ROE คืออะไร มีเคล็ดลับอย่างไรให้ใช้ทำกำไรได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการลงทุนแล้วการวิเคราะห์พื้นฐานที่เป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือการวิเคราะห์สัดส่วนทางการเงิน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนได้มองเห็นโครงสร้างและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท และเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจว่าหุ้นหรือบริษัทนี้น่าลงทุนหรือไม่ และสัดส่วนทางการเงินตัวหนึ่งที่ใช้บ่อยและเป็นประโยชน์มากก็คงหนีไม่พ้นอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ ROE ที่เรามักจะได้ยินนักวิเคราะห์พูดถึงบ่อย ๆ แต่สัดส่วนทางการเงินตัวนี้ก็มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจอยู่พอสมควร ซึ่งหากใครกำลังสงสัยว่า ROE คืออะไร มีเคล็ดลับอย่างไรให้ใช้ทำกำไรได้อย่างยั่งยืน คราวนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

1. ROE คืออะไร

ค่า ROE หรือ อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (Return on Equity – ROE) เป็นสัดส่วนทางการเงินที่ใช้วัด กำไรสุทธิหลังหักภาษีในรอบปี (Annual Net Profit) ต่อ ส่วนของเจ้าของหรือหุ้น (Equity) ทั้งหมด ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปของเปอร์เซนต์ 

ROE แบ่งออกเป็นสองส่วนย่อย เพราะเป็นการนำบัญชีรายรับมาใช้ร่วมกับงบการเงิน นั่นคือการเทียบสัดส่วนของ กำไรสุทธิหลังหักภาษี และ ส่วนของเจ้าของ ที่เป็นสินทรัพย์ของบริษัท (Asset) หักลบด้วยหนี้สิน (Debt) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของบริษัทที่จะเปลี่ยนส่วนของเจ้าของให้กลายเป็นผลกำไร ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งค่านี้มีสัดส่วนมากก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทที่มากเมื่อเทียบกับส่วนของเจ้าของที่เท่ากัน 

หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ ROE คือ ตัวเลขที่แสดงถึง ผลกำไรสุทธิที่บริษัททำได้ ต่อ 1 หน่วยของส่วนของเจ้าของ (มักใช้หน่วยเป็นดอลลาร์หรือค่าเงินอื่น ๆ )

และเนื่องจากส่วนของทุน (Equity) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สุดที่บริษัทจะสามารถนำไปสร้างผลกำไรต่อให้งอกเงยได้ และผลกำไรที่ตอบแทนในส่วนของทุนแต่ละหน่วยนั้นก็สามารถชี้วัดผลกำไรส่วนเกินที่จะกลับมาจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นภายหลังจากได้มีการจ่ายหนี้และหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ออกไปแล้ว ROE จึงเป็นการมองบนเบสไลน์สุด ๆ เพื่อคาดการณ์ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจากเงินที่ผู้ถือหุ้นได้ลงทุนไป

2. เราจะหา ROE ได้อย่างไร  

ROE จะแสดงค่าออกมาเป็นเปอร์เซนต์ และสามารถคำนวณได้จาก กำไรสุทธิ (Net Profit) และ ส่วนของเจ้าของ (Equity) ในกรณีที่ทั้งสองมีค่าเป็นบวก นั่นคือบริษัทมีกำไร และ ยังมีส่วนของเจ้าของเหลืออยู่ 

กำไรสุทธิ (Net Profit) คำนวณได้จากผลกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย-ดอกเบี้ยและภาษี แต่เป็นกำไรที่ยังไม่หักส่วนของปันผลออกไป โดยคิดจากผลกำไรในรอบปีหรือ 12 เดือนที่จะปรากฏอยู่ในบัญชีรายได้ของบริษัท และส่วนของกำไรสุทธินี้เองที่จะกลายเป็นผลกำไรที่ตกอยู่กับผู้ถือหุ้นของบริษัทในที่สุด และผลกำไรสุทธิที่จะนำมาคำนวณ ROE ได้ต้องมีค่าเป็นบวก หรือในรอบปีนั้นบริษัทมีกำไรพอที่จะสามารถนำมาคำนวณได้

ส่วนของเจ้าของ (Equity) คือ ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ (Asset) หักลบด้วยหนี้สิน (debt) ที่สามารถหาได้จากส่วนท้ายของงบการเงินของบริษัทในรอบปี โดยส่วนของเจ้าของต้องมีค่าเป็นบวก เนื่องจากไม่มีส่วนของทุนแล้วกำไรที่ได้มาก็จะต้องนำไปใช้ส่วนของหนี้สินก่อนทั้งหมด แต่เนื่องจากส่วนของเจ้าของนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้หลายครั้งในรอบปี วิธีการคำนวณ ROE ให้มีผลออกมาตรงที่สุดควรใช้ค่าส่วนของเจ้าของ (Equity) ที่เป็นค่าเฉลี่ยในรอบงบการเงินที่นำมาคำนวณ จะทำให้ได้ค่า ROE ที่สะท้อนความเป็นจริงมากกว่าการนำเพียงค่าสุดท้ายตอนปิดงบสิ้นปีมาใช้อาจทำให้ได้ค่า ROE  ที่คลาดเคลื่อนไปและสะท้อนความหมายที่ผิดพลาดได้ง่าย

ROE มีสูตรในการคำนวณ คือ

อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (ROE) = กำไรสุทธิ / ส่วนของเจ้าของ

หากคำนวณแล้ว ค่า ROE > 0 หรือเป็นบวก หมายความว่าบริษัทสามารถสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ ยิ่งสัดส่วนมากยิ่งแสดงว่าสร้างกำไรได้มาก

หากคำนวณแล้ว ค่า ROE < 0 หรือออกมาเป็นลบ หมายความว่าบริษัทไม่สามารถสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้

อย่างไรก็ดี การอ่านค่าบวกลบของ ROE ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่เช่นกัน

3. ROE บอกอะไรเราได้บ้าง

ROE เป็นสัดส่วนทางการเงินอย่างง่ายที่ช่วยบอกผลตอบแทนจากเงินลงทุน ด้วยการเทียบ ROE ของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันทำให้เราได้เห็นว่าบริษัทไหนมีประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นเพื่อนำมาสร้างเป็นผลกำไรได้ดีกว่า และหลายครั้ง ROE ก็ถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทต่าง ๆ ได้ด้วย 

การเติบโตของ ROE แบบสม่ำเสมอและค่อนข้างมีความยั่งยืนนั้นบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของบริษัทในระยะยาว และการที่บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันการลดลงของ ROE ในระยะยาวอาจหมายถึงการบริหารจัดการที่ไม่ดี นำไปสู่การตัดสินใจและการประกอบธุรกิจของบริษัทที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจหมายถึงแนวโน้มของผลกำไรที่ลดลงอันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น หรือธุรกิจเริ่มเข้าสู่วงรอบที่ไม่เติบโต (sunset stage) 

ROE นักลงทุนจะสามารถมองหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับเงินทุนของตัวเองได้ เมื่อเราคำนวณค่า ROE ออกมา เราจะเห็นประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนของแต่ละบริษัท โดยเราสามารถเปรียบเทียบค่า ROE ของแต่ละบริษัทเข้ากับค่า ROE เฉลี่ยของอุตสาหกรรม รวมทั้งค่า ROE เฉลี่ยย้อนหลังของบริษัทนั้น ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าการใช้ ROE ประกอบการพิจารณาไม่ควรใช้ค่า ROE แบบเดี่ยว ๆ ณ จุดของเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งลำพัง เพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของตัวเลขได้ เช่น ในปีที่บริษัทมีการซื้อคืนหุ้นจำนวนมาก ฯลฯ 

4. ข้อควรระวังในการอ่านค่า ROE 

เมื่อเราดูค่า ROE จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง โดยทั่วไปแล้วค่านี้จะไม่มีความแตกต่างมากนักสำหรับบริษัทที่มีการเติบโตแบบคงที่หรือค่อยเป็นค่อยไป แต่ค่า ROE ที่ สูง หรือ ต่ำ กว่าปกติก็อาจเกิดขึ้นได้ และมักจะสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาพทางการเงินหรือแสดงให้เห็นสภาวะการณ์พิเศษของบริษัทนั้น ซึ่งค่า ROE ที่ออกมาแปลกไปจากปกติอาจสะท้อนให้เห็นปัญหาของบริษัท เช่น

1)บริษัททำกำไรได้แบบไม่สม่ำเสมอ (Inconsistent Profits)

ความเป็นไปได้แรกสำหรับ ROE ที่ออกมาแบบไม่คงที่ก็คือสาเหตุที่ว่า บริษัทไม่สามารถสร้างผลกำไรอย่างสม่ำเสมอได้ เช่น บริษัทที่เคยขาดทุนมายาวนาน และผลขาดทุนของแต่ละปีก็จะถูกนำมารวมกันไว้เป็นผลขาดทุนสะสม ซึ่งผลขาดทุนตรงนี้จะไปลดทอนมูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลง ต่อมาบริษัทนี้อยู่ ๆ ก็สามารถทำกำไรได้ขึ้นมา ทำให้การคำนวณ ค่า ROE ในปีนั้นรายงานออกมาสูงอย่างไม่น่าเป็นไปได้ แต่แน่นอนว่านั่นไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนเลย

2) มีหนี้ล้นเกินหรือมีการใช้เลเวอเรจที่สูงเกินไป (Excess Debt) 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ ROE มีค่าออกมาสูงผิดปกติก็คือการที่บริษัทมีหนี้สูงเกินไป ถ้าบริษัทมีการกู้ยืมแบบไม่บันยะบันยังก็จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง อันเนื่องมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นมาจากการนำสินทรัพย์ (Asset) ลบด้วยหนี้สิน (Debt) และเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อย แม้บริษัทจะทำกำไรได้ไม่มาก ก็สามารถคำนวณ ROE ให้ออกมาสูงได้ แต่ค่า ROE นี้ก็ไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพ ทั้งยังหมายถึงบริษัทที่มีความเปราะบางจากภาวะหนี้สูงด้วย

3) มีกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ (Negative Net income & Negative Equity)

กรณีนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องลงรายละเอียด เนื่องจากหากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่แล้ว และมีการรายงานกำไรสุทธิติดลบ นั่นจะทำให้การคำนวณ ROE ออกมามีค่าเป็นบวก และอาจรายงานเป็นค่าบวกต่อเนื่องได้เป็นเวลาระยะหนึ่งทีเดียว 

แต่การสับสนจาก ROE สูงแบบนี้ก็เป็นไปได้ยากเพราะบริษัทที่รายงาน ROE สูงจากกำไรมักขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการทำกำไรและการเติบโต ขณะที่บริษัทที่รายงาน ROE สูงจากกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบมักมีประวัติขาดทุนสม่ำเสมอ จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่ก็ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ 

ดังนั้นหากบริษัทมีการรายงานกำไรติดลบ และมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่แล้ว การคำนวณ ROE จะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นปัจจัยบวกอะไรเลย

4) บริษัทมีการซื้อหุ้นคืน (Shareholder Buy Back)

อีกหนึ่งกรณีที่สามารถทำให้ค่า ROE สูงกว่าปกติได้ก็คือการซื้อหุ้นคืนของบริษัท ซึ่งการซื้อหุ้นคืนแบบนี้จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ซึ่งหากเป็นกรณีที่เกิดจากบริษัทมีกระแสเงินสดมากเกินไปก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่นักลงทุนก็ควรตระหนักว่าค่า ROE ที่สูงขึ้นแบบนี้จะมีเป็นไปแบบชั่วคราวเป็นการเฉพาะ และค่า ROE ที่ได้นี้ก็อาจไม่สามารถนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทนี้ได้ แต่ควรเลือกใช้เป็นการพิจารณาค่า ROE ย้อนหลังที่จะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทได้ชัดเจนกว่า

อย่างไรก็ดีเพื่อให้ง่ายสำหรับนักลงทุน การเทียบกับค่า ROE เฉลี่ยของตลาด เช่น S&P500 มีค่า ROE เฉลี่ยย้อนหลังที่ 14% ดังนั้นการเลือกหุ้นจาก ROE ก็ไม่ควรเลือกได้หุ้นที่มี ROE ต่ำกว่านั้น

5. ความสัมพันธ์ระหว่าง ROE และการเติบโต

แน่นอนว่าสำหรับนักลงทุนแล้ว หนึ่งในเป้าหมายการลงทุนก็คงหนีไม่พ้นการมีหุ้นที่ราคาเติบโตได้ดีในระยะยาวและสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอมาไว้ในพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบสนองเป้าหมายนี้เราสามารถใช้ ROE เป็นปัจจัยหลักในการคาดการณ์ได้

หนึ่งในวิธีการประเมินการเติบโตของบริษัทก็คือการคำนวณหาจาก อัตราการเก็บกำไรไว้กับบริษัท (Retention Ratio) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น ตามสูตร  

อัตราการเติบโต (Growth) = อัตราการเก็บกำไรไว้ (1 – Payout Ratio) x อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE)

ซึ่งอัตราการเก็บกำไรไว้ จะเท่ากับ ( 1 – Payout Ratio ) หรือ ( 1 – อัตราเงินปันผลที่บริษัทจ่ายออกไป ) ซึ่งจะเหลือเป็นส่วนของผลกำไรที่เก็บไว้กับบริษัทเพื่อสะสมมูลค่าต่อไปในระยะยาวนั่นเอง

ตามสมการคำนวณการเติบโตแบบนี้ เราจะพบว่าอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE เป็นตัวแปรตามกับอัตราเติบโตของบริษัท ที่หมายความว่าหากบริษัทไหนที่มี ROE สูง ก็จะมีโอกาสที่จะทำอัตราการเติบโตของบริษัทได้สูงตามไปด้วย และการเติบโตของบริษัทนี้เองที่มักจะนำมาซึ่งการขยับตัวขึ้นของราคาหุ้นและความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น สองบริษัทที่สมมติให้มี ROE เท่ากัน นั่นคือ บริษัท A มี ROE 15% เช่นเดียวกับที่บริษัท B ก็สามารถคำนวณ ROE ออกมาได้ 15% เท่ากัน แต่ในระยะยาวแล้วเราควรจะเลือกซื้อหรือลงทุนในบริษัทไหนเพื่อให้เกิดการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว สำหรับกรณีนี้เราต้องมาดูอัตราการเก็บกำไรไว้ หรือ Payout Ratio 

หากบริษัท A มีอัตราการจ่ายปันผลที่ 30% จะมีอัตราการเติบโต (Growth Rate) ที่ = ( 1 – 0.30) x 15% = 10.5% 

ขณะที่บริษัท B มีอัตราการจ่ายปันผลที่ 10%  จะมีอัตราการเติบโต (Growth Rate) = ( 1 – 0.10 ) x 15% = 13.5% 

ดังนั้นเราจะพบว่าแม้บริษัททั้งสองจะมีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (ROE) เท่ากัน แต่สำหรับการเติบโตของราคาหุ้นในระยะยาว บริษัทที่มีการจ่ายปันผลน้อยกว่า จะสามารถมีการเติบโตจากการสะสมมูลค่าได้มากกว่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันราคาหุ้นในตลาดให้สูงขึ้นได้ในระยะยาว

6. ตัวอย่างการใช้ ROE 

การใช้ ROE ต้องเริ่มจากการคำนวณค่า ROE ออกมาก่อน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการเข้าสมการ

อัตรากำไรสุทธิ ROE = กำไรสุทธิ (Net Income) / ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) 

เช่น บริษัทหนึ่งมีกำไรสุทธิในปีที่ $1,800,000 ดอลลาร์ และมีค่าเฉลี่ยส่วนของผู้ถือหุ้นที่ $12,000,000 จะสามารถคำนวณ ROE ได้ดังนี้

ROE = $1,800,000 / $12,000,000

= 15%

และสามารถแสดงได้ว่าบริษัทนี้มีประสิทธิภาพในการสร้างผลกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้นได้ 15% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ROE ของ S&P500 ที่ 14% ก็นับว่ายังอยู่ในค่าเฉลี่ยที่สามารถรับได้

ส่วนตัวอย่างการคำนวณ ROE สำหรับบริษัทในตลาดหุ้นจริง ๆ ก็ไม่ได้ต่างจากการคำนวณในตัวอย่างเท่าไหร่นัก แต่จะมีความยุ่งยากเพิ่มกขึ้นเล็กน้อยในกรณีที่ต้องหาค่า กำไรสุทธิ และ ส่วนของผู้ถือหุ้น เอง ซึ่งก็ทำได้ไม่จากด้วยการเปิดหาจากบัญชีรายได้และส่วนท้ายของงบการเงิน เช่น

บริษัท AAPL มีการรายงานงบการเงินสิ้นปีที่สิ้นเดือนกันยา 2021 บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่ $94.68 พันล้านดอลลาร์ และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 4 ไตรมาสของปี 2021 ที่ $65.69 พันล้านดอลลาร์ [ (66.22 + 69.18 + 64.28 + 63.09) / 4 = 65.69 ] ดังนั้นเราจะสามารถคำนวณ ROE ของบริษัทนี้ได้โดย

ROE = $94.68B / $65.69B

= 144%

ซึ่งหากเรามองเทียบกับค่าเฉลี่ยในตลาด S&P500 แล้วก็นับว่า AAPL มีความสามารถในการสร้างผลกำไรที่ดีมาก แต่หากต้องการเปรียบเทียบให้ชัดเจนลงไปอีก เราควรเปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไร หรือ ROE ของบริษัทนี้กับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน 

ตัวอย่างเช่น 

  • Amazon.com, Inc. (AMZN) รายงาน ROE เมื่อสิ้นไตรมาส 3/2021 ที่ 24.31%
  • Microsoft Corp. (MSFT) รายงาน ROE เมื่อสิ้นไตรมาส 3/2021 ที่ 48.60%
  • Alphabet Inc. (GOOGL) รายงาน ROE เมื่อสิ้นไตรมาส 3/2021 ที่ 30.22%

ดังนั้นเราจะเห็นว่า ค่า ROE ที่คำนวณได้จาก AAPL นั้นมีค่าสูงมาก สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด อีกทั้งยังสูงกว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคู่แข่งสำคัญ ๆ ในตลาดอีกด้วย ดังนั้นหากมองในแง่การสร้างกำไร AAPL ก็เป็นบริษัทหนึ่งที่น่าเข้าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีเว็บไซต์ได้จัดข้อมูล ROE มาไว้ให้แล้ว ไม่ต้องนักลงทุนมานั่นคำนวนเอง

สำหรับหุ้นต่างประเทศสามารถเข้าไปดูข้อมูล ROE รายบริษัทได้ที่นี่

สำหรับหุ้นไทยสามารถเข้าไปดูข้อมูล ROE รายบริษัทได้ที่นี่

เทรดหุ้นสหรัฐ

7. ข้อจำกัดของ ROE 

มาถึงตรงนี้ เราได้ศึกษาปัจจัยที่อาจทำให้การคำวณค่า ROE ผิดเพี้ยนและไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการทำกำไรได้อย่างตรงไปตรงมา (จากส่วนที่ 3) ได้ดูความสัมพันธ์ของ ROE ต่อการเติบโตของราคาหุ้นในอนาคต รวมถึงตัวอย่างการใช้งานในบริษัทจริงที่เทรดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ดูเหมือนจะสามารถช่วยเราตัดสินใจเลือกหุ้นได้แบบไม่ยาก 

อย่างไรก็ดีเราต้องคำนึงว่า ROE ก็มีข้อจำกัดในแง่การใช้งานอยู่เช่นกัน นั่นคือ

1) ROE ไม่สามารถบอกความถูกแพงของราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบันได้ 

นั่นคือแม้ ROE จะสามารถบอกประสิทธิภาพในการใช้ส่วนของทุนได้ แต่ไม่สามารถบ่งชี้ความถูกแพงของหุ้นที่ซื้อขายในขณะนั้นได้ เช่น หุ้น ABC มีค่า ROE ที่ 20% แต่เมื่อลองนำ EPS มาคำนวณร่วมกับราคาซื้อขายในปัจจุบันกลับได้ค่าออกมาที่ PE 50 เท่า ทำให้แม้บริษัทนี้จะมีความสามารถในการทำกำไรดีแค่ไหน แต่ราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันก็แพงเกินไปมากแล้ว (Overvalue) การลงทุนในบริษัทนี้ ณ ราคาที่ซื้อขายกันอยู่นี้จึงอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าเอาได้มาก ๆ  

2) ค่า ROE ไม่ได้นำสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มาร่วมคำนวณด้วย 

นั่นคือการคำนวณ ROE อาจไม่ได้นำสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิบัตร ทัศนคติที่ดีของลูกค้า นวัตกรรม หรือสิทธิในรูปแบบต่าง ๆ ที่จับต้องไม่ได้เข้ามารวมไว้ ทำให้ค่า ROE ที่ออกมาไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ทั้งหมด โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสูง

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้การอ่านค่า ROE ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้

และทั้งหมดนี้ก็คือการตอบคำถามที่ว่า ROE คืออะไรแบบง่าย ๆ ไปจนถึงการนำไปใช้และข้อควรระวัง ซึ่งข้อจำกัดที่กล่าวมาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือแสดงว่าอัตราส่วนทางการเงินตัวนี้ใช้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงก็ไม่มีสัดส่วนทางการเงินตัวใดที่จะแสดงค่าได้อย่างตรงไปตรงมาและสามารถบอกได้ทุกอย่าง การมองถึงจุดเด่นและข้อควรระวังของการใช้สัดส่วนทางการเงิน เช่น ROE จึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้สามารถสะท้อนความหมายของอัตราส่วนนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

ข้อมูลเพิ่มเติม>>

ตลาดหุ้นเปิดกี่โมง? วันหยุดตลาดหุ้นปี 2564

วิธีการเล่นหุ้นระยะสั้นสำหรับมือใหม่ 2564

เล่นหุ้นต่างประเทศยังไงให้ได้ปัง

เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น โบรกไหนค่าคอมถูกสุด 2564

เปิดพอร์ตหุ้นโบรกเกอร์ไหนดี 2021

คัมภีร์วิธีเล่นหุ้นเริ่มต้นฉบับสมบูรณ์ 2564