ในการฟังบทวิเคราะห์หุ้นจากผู้เชี่ยวชาญ PE จะเป็นสัดส่วนทางการเงินตัวหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยจนอาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่นึกสงสัยว่าค่า PE คืออะไร บรรดานักวิเคราะห์ต่าง ๆ นำค่า PE นี้มาจากไหน และค่า PE นี้บอกอะไรเราได้บ้าง ต้องบอกเลยว่าค่าตัวนี้ค่อนข้างสำคัญสำหรับการประเมินราคาหุ้นและเป็นส่วนสำคัญสำหรับการตัดสินใจซื้อขาย จนเป็นสาเหตุทำให้ PE ถูกนำมาใช้บ่อยครั้ง ซึ่งคราวนี้เราจะมาค้นและทำความรู้จักค่า PE นี้ให้ลึกกว่าที่เคยกัน
1. PE คืออะไร
PE ratio หรือ Price to Earning Ratio คืออัตราส่วนที่ใช้เทียบระหว่าง ราคาหุ้นในปัจจุบัน กับ กำไรสุทธิต่อหุ้น เพื่อใช้ดูว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในปัจจุบันนั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้นที่บริษัททำได้
หากพูดให้ง่ายขึ้นค่า PE นี้จะเป็นการดูว่า หากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่ราคาตลาดในปัจจุบัน และสมมติให้อัตรากำไรสุทธิของหุ้นตัวนี้เท่ากับที่รายงานออกมาทุกปี นักลงทุนจะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าที่จะคุ้มค่ากับเงินที่ลงไป หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะถอนทุนคืนได้
เมื่อพูดถึงแง่นี้ PE จึงมักถูกนำมาใช้ชี้วัดความถูกแพงของหุ้นที่นักลงทุนเข้าซื้อ เช่น เดิมหุ้นตัวนี้คำนวณ PE ออกมาได้ที่ 10 เท่า แต่ปัจจุบันที่ความผันผวนของตลาดสูงขึ้นและกดให้ราคาหุ้นลงไปซื้อขายที่ระดับต่ำ กดค่า PE ลงเหลือเพียง 8 เท่า นั่นแสดงว่าราคาของหุ้นตัวนี้เริ่มที่จะถูกลงกว่าที่เคย และนักลงทุนสามารถเข้าซื้อได้โดยคาดหมายระยะเวลาคืนทุนที่สั้นลง
นอกจากการนำ PE มาเปรียบเทียบกับหุ้นตัวเดียวกันในอดีตแล้ว เรายังสามารถนำค่า PE นี้มาเปรียบเทียบระหว่างหุ้นที่กำลังสนใจ กับค่าPEเฉลี่ยของตลาด ค่า PE เฉลี่ยของอุตสาหกรรม รวมทั้งเปรียบเทียบกับค่า PE ของหุ้นตัวอื่น ๆ ที่กำลังสนใจอยู่ได้ด้วย
ในกรณีนี้หุ้นที่มีค่า PE ต่ำกว่าก็หมายความถึงหุ้นที่กำลังซื้อขายในราคาถูก (Undervalued) เมื่อลงทุนไปแล้วจะมีระยะเวลาคืนทุนน้อยกว่า และเป็นที่น่าสนใจเข้าลงทุนมากกว่า ขณะที่หุ้นที่มี PE สูงจะหมายถึงหุ้นที่ซื้อขายในราคาแพง (Overvalued) และต้องใช้เวลาที่นานขึ้นเพื่อให้คืนทุน
สำหรับการคำนวณค่า PE สามารถทำได้ทั้งแบบมองย้อนกลับ trailing PE และ มองไปข้างหน้า Forward PE
Forward PE คือ การคำนวณค่า PE จากการคาดการณ์ไปข้างหน้า ด้วยการใช้ อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นในรอบบัญชีถัดไป (ปีหน้า) เพื่อคาดการณ์ความถูกแพงของหุ้นเมื่อเทียบกับอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นที่จะทำได้ในอนาคต
Trailing PE คือ การคำนวณค่า PE ย้อนหลัง โดยใช้ ราคาในปัจจุบัน เทียบกับอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นค่าความถูกแพงของหุ้นที่กำลังเทรดในราคาปัจจุบันเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีต
อย่างไรก็ดีหุ้นที่มี PE ต่ำที่หมายความว่ากำลังซื้อขายกันอยู่ในราคาถูกจะเป็นหุ้นที่น่าเข้าซื้อ ในทางกลับกัน หุ้นที่มี PE สูงที่หมายถึงกำลังซื้อขายกันอยู่ในราคาที่แพงก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ไม่น่าซื้อเสมอไป เนื่องจากการคำนวณ PE นั้นมีรายละเอียด การตีความ การอ่านค่า และข้อจำกัดในการใช้งานดังที่เราจะพูดถึงกันในส่วนต่อไป
2. เราจะหา PE ได้อย่างไร
การคำนวณ PE นั้นประกอบด้วย 2 ส่วน นั่นคือ ราคาหุ้นที่กำลังซื้อขายในปัจจุบัน (Price) กับ อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ตามสูตร
PE = Price / EPS
ราคา (Price) นั้นหมายถึงราคาหุ้นที่กำลังซื้อขายในปัจจุบัน หรือราคาที่นักลงทุนสนใจจะเข้าลงทุน
อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per Share – EPS) นั้นมีรายละเอียดที่เยอะขึ้น เนื่องจากเป็นสัดส่วนทางการเงินอีกตัวหนึ่งที่มีความซับซ้อนในการคำนวณ นั่นคือ EPS เป็นสัดส่วนที่บอกว่าบริษัทนี้สามารถสร้างกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ต่อจำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว 1 หุ้น โดยมีสูตรการคำนวณคือ
อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) = อัตรากำไรสุทธิ (Earning) / จำนวนหุ้นสามัญเรียกชำระแล้ว (Share)
ซึ่งอัตรากำไรสุทธิจะต้องเป็นกำไรสุดท้ายหลังการหักค่าใช้จ่ายและภาษีเรียบร้อยแล้ว และ จำนวนหุ้นสามัญก็จะเป็นต้องเป็นจำนวนหุ้นจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วเช่นกัน
สำหรับ EPS นั้นมีค่ายิ่งสูงยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่สามารถสร้างกำไรได้สูง และหมายถึงผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือการเติบโตของบริษัทที่จะสูงตามมา
ตัวอย่างการคำนวณ PE
► บริษัท A มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ที่ทำได้ในปีนี้เท่ากับ 10 บาท และกำลังซื้อขายกันอยู่ที่ราคา (Price) 100 บาท
คำนวณได้จาก PE = Price / EPS
= 100 / 10
= 10
นั่นหมายความว่าหุ้นตัวนี้กำลังซื้อขายกันบน PE 10 เท่า ซึ่งหากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้น A ที่ราคานี้จะต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะคืนทุน
► บริษัท B มีหุ้นจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว (Share) 100 หุ้น และในปีนี้สามารถทำกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย (Earning) ที่ 100 บาท ซึ่งปัจจุบันหุ้นตัวนี้กำลังซื้อขายกันอยู่ที่ราคา (Price) 20 บาท
คำนวณได้จาก PE = Price / EPS โดยที่ EPS = Earning/ Share
= 20 / (100 / 100)
= 20
นั่นหมายความว่าหุ้นตัวนี้มีค่า PE อยู่ที่ 20 เท่า ซึ่งหากนักลงทุนเลือกซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคาปัจจุบันจะต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 20 ปี
แบบนี้เราจะเห็นว่าถึงแม้หุ้น A จะซื้อขายกันในปัจจุบันด้วยราคาถึง 100 บาท แต่หากมองในแง่ความคุ้มค่าของมูลค่าจากการคำนวณ PE เราจะพบว่าราคาหุ้นก็ยังถูกกว่าการซื้อหุ้น B ที่ราคา 20 บาท
3. PE บอกอะไรเราได้บ้าง
ตามนิยามที่เล่ามาก่อนหน้านี้ PE สามารถบอกความเร็วช้าสำหรับการคืนทุนจากเงินลงทุนที่ได้ลงไป ซึ่งจากส่วนนี้ก็ยังสามารถนำมาบอกอะไรได้อีกหลายอย่าง เช่น
- บอกความถูกแพงของหุ้นโดยเปรียบเทียบ
ซึ่งกรณีนี้เราอาจใช้ดูความถูกแพงของหุ้นด้วยการเปรียบเทียบค่า PE ระหว่างหุ้นสองตัวอย่างที่อธิบายไปแล้วในส่วนที่ 2 นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับ PE เฉลี่ยของตลาด หรือ ค่า PE เฉลี่ยของอุตสาหกรรมก็ได้
ตัวอย่างเช่น ค่า PE เฉลี่ยของตลาด S&P500 จะอยู่ที่ราว 11 – 14 เท่า ส่วนตลาด Nasdaq นั้นมีค่า PE เฉลี่ย 35.54 เท่า ดังนั้นหากเราเลือกหุ้นที่จะลงทุนและหุ้นตัวนั้นมีค่า PE สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เช่น ที่ 20 เท่า นักลงทุนก็จำเป็นต้องเข้าไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นตัวนั้น และหากซื้อที่ราคานี้จะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ หรือควรรอราคาให้ปรับลดลงมาจนทำให้ค่า PE ต่ำลง จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เป็นต้น
- บอกการให้ค่าของนักลงทุนต่อหุ้นตัวนั้น ๆ
หลายครั้งที่หุ้นตัวหนึ่งถูกนำไปเทรดที่ PE แพงมาก เช่น ที่ PE 200 เท่า ซึ่งทั้ง ๆ ที่ทุกคนทราบดีว่าเป็นราคาที่แพง แต่นักลงทุนก็ยังยอมซื้อ กรณีนี้อาจเป็นไปได้ว่านักลงทุนมีการให้มูลค่าในอนาคตกับหุ้นตัวนี้สูงกว่าในปัจจุบัน เช่น แม้ปัจจุบันจะเทรดกันอยู่ที่ PE 200 เท่า แต่เมื่อมองไปในอนาคตนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้นได้ ทำให้มองไปในอนาคตแล้วค่า PE จะถูกลงเป็น 10 เท่า ทำให้แม้หุ้นมีราคาแพงและมีค่า PE ที่สูง ก็ยังมีคนยอมซื้อ
ในทางกลับกัน แม้หุ้นจะมี PE ต่ำอย่างไร แต่หากนักลงทุนให้ค่ากำไรสุทธิต่อหุ้นที่บริษัทจะทำได้ในอนาคตนั้นลดต่ำลง ค่า PE ที่ดูต่ำในวันนี้ก็อาจกลายเป็นสูงได้หลาย ๆ เท่า และมองว่าไม่น่าซื้อ หุ้นตัวหนึ่งจึงยังสามารถมีราคาถูกต่อไปได้เรื่อย ๆ แม้จะมี PE ที่ต่ำก็ตาม
เราสามารถหาค่า PE ได้ง่าย ๆ จากเว็บไซต์ที่แสดงค่าอัปเดทที่ราคาปิดรายวันสำหรับหุ้นไทยที่นี่ หรือหุ้นต่างประเทศที่นี่
4. ข้อจำกัดของการใช้ PE
จากที่เราไปดูวิธีใช้และการอ่านค่า PE กันมาแล้ว เราจะพบว่าค่า PE นั้นสามารถสะท้อนความถูกแพงของหุ้นแต่ละตัวเมื่อเทียบกับตัวเองในอดีต เทียบกับหุ้นตัวอื่น เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม รวมถึงเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดได้ อย่างไรก็ดี การตีความค่า PE ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน นั่นคือ
- PE เป็น ศูนย์ ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นบริษัทนั้นถูก
แต่หมายความว่าบริษัทนั้นไม่เคยทำกำไรได้เลย ซึ่งแม้จะเป็นค่า PE ที่ต่ำ นักลงทุนก็ไม่ควรเข้าซื้อ
- PE เป็นการบอกค่าความถูกแพงของหุ้นโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพด้านอื่น ๆ
นั่นคือ เป็นการคำนวณจากราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทว่ามีความเปราะบางของภาระหนี้สิน หรือมีความสามารถทำกำไรในระยะยาวหรือไม่
- PE คำนวณมาจากค่า EPS และ ราคาหุ้นในปัจจุบัน
ซึ่งค่าทั้งสองตัวนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคำนวณค่า PE โดยใช้ค่า EPS ตายตัวที่คำนวณได้จากรอบปีที่ผ่านมาหรือการคาดการณ์ว่าจะทำได้ในรอบ 12 เดือนข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าปีต่อ ๆ ไปบริษัทจะสามารถทำ EPS ได้เท่าเดิมทุกปี
ดังนั้นการเข้าซื้อหุ้นด้วยการดูค่า PE อย่างเดียวจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นการตัดสินใจจากข้อมูลที่ไม่ได้สะท้อนภาพรวมทั้งหมด จนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจได้
5. ว่าด้วย PEG
เพื่อลดข้อจำกัดในด้านที่ PE เดิมสามารถสะท้อนได้เพียงความถูกแพงของราคาหุ้น เราจึงนำค่านี้มาประยุกต์ใช้เข้ากับ การประเมินการเติบโตของกำไรสุทธิ ซึ่งวิธีนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย ปีเตอร์ ลินซ์ นักลงทุนชื่อดังที่คิดค้นวิธีลงทุนที่หลากหลาย โดยมองว่า หากบริษัทมีอัตราการเติบโตของกำไรมากเท่าไหร่ เราก็ควรซื้อหุ้นที่ราคาแพง (PE แพง) แค่นั้น เช่น หากคาดว่าบริษัทจะสามารถคงการเติบโตของกำไรได้ที่ 20% ต่อปี เราก็ควรซื้อหุ้นตัวนี้อย่างแพงที่สุดก็คือ PE 20 เท่า
สูตรการคำนวณ
PEG = PE / G
เมื่อ PE คือ ราคาต่ออัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น และ G คือ อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ
- หากค่า PEG < 1 จะหมายความว่า PE ของหุ้น เทียบกับอัตราการเติบโตของผลกำไรแล้วมีค่าต่ำ คือน้อยกว่า 1 แสดงว่าหุ้นนี้กำลังเทรดที่ราคาถูก หรือ Undervalued
- หากค่า PEG > 1 จะหมายความว่า PE ของหุ้น เทียบกับอัตราการเติบโตของผลกำไรแล้วมีค่าสูง คือมากกว่า 1 แสดงว่าหุ้นนี้กำลังเทรดที่ราคาแพง หรือ Overvalued
แต่เนื่องจาก PEG มักนำมาใช้เพื่อประเมิณหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง การเลือกใช้วิธีนี้กับหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างคงที่อาจจะไม่ได้สะท้อนความหมายที่ชัดเจนนัก และอัตรากำไรสุทธิจำเป็นต้องเป็นแบบ normal ที่ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายหรือรายได้ที่มีลักษณะที่เกิดขึ้นครั้งเดียวไว้ ดังนั้นการคำนวณ PEG แม้จะสามารถสะท้อนราคาหุ้นที่มีการเติบโตสูงได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังและรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงในการคำนวณเช่นกัน
6. ตัวอย่างการใช้ PE และ PEG
มาลองดูตัวอย่างหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูง ว่าจะมีการคำนวณค่า PE และ PEG ได้อย่างไรกันบ้าง โดยเริ่มจากการคำนวณค่า PE
- หุ้น NVIDIA Corporation (NVDA) มีราคาซื้อขายปัจจุบัน $300.25 มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น EPS $2.8 ดังนั้น หุ้นตัวนี้เทรดกันอยู่บนค่า PE ที่ = 300.25 / 2.8 = 107.23 เท่า
- หุ้น Apple Inc (AAPL) มีราคาซื้อขายปัจจุบันที่ $150.00 มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น EPS $5.61 ดังนั้น หุ้นตัวนี้เทรดกันอยู่บนค่า PE ที่ = 150.00 / 5.61 = 26.73 เท่า
- หุ้น Amazon.com Inc (AMZN) มีราคาซื้อขายปัจจุบันที่ $3,545.68 มีอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น EPS $51.14 ดังนั้น หุ้นตัวนี้เทรดกันอยู่บนค่า PE ที่ = 3,545.68 / 51.14 = 69.33 เท่า
เราจะพบว่าเมื่อดูจากความถูกแพงด้วยค่า PE แล้วเราสามารถเรียงลำดับหุ้นจากราคาถูกไปหาราคาแพงได้จาก AAPL < AMZN < NVDA ซึ่งมีข้อสังเกตหนึ่งว่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีแต่ละตัวนั้นมีการเทรดกันบนค่า PE ที่สูงมาก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด S&P500 ที่ 11 – 14 เท่า หรือแม้แต่หลายตัวก็เทรดกันสูงว่าค่าเฉลี่ย PE ของตลาด Nasdaq ที่ 35.54 เท่า แต่นั่นยังคงเป็นไปได้เนื่องจากการซื้อขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีการเติบโตของกำไรในอนาคตสูง หรือเรียกกันว่าเป็นการเทรดบนพื้นฐานในอนาคต ดังนั้นเราจึงอาจจำเป็นต้องดู PEG ประกอบ
สำหรับ PEG (5 yr expected) ของ NVIDIA Corporation (NVDA) ปัจจุบันอยู่ที่ 4.57, Apple Inc (AAPL) อยู่ที่ 3.22, Amazon.com Inc (AMZN) อยู่ที่ 2.10 ทำให้เราเห็นว่าหากดูจากค่า PE เทียบกับอัตราการเติบโตของผลกำไรแล้ว ความถูกแพงของหุ้นแต่ละตัวเริ่มเปลี่ยนไป นั่นคือ AMZN < AAPL < NVDA
อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้นมีความเปลี่ยนแปลงของอัตรากำไรสุทธิในอนาคตได้ง่าย การนำค่า PE และ PEG มาใช้อาจทำให้เราได้เห็นการให้ค่าของนักลงทุนต่อการเติบโตของผลกำไรของหุ้นในอนาคต ซึ่งหุ้นที่แพงด้วยการคำนวณค่า PE อาจไม่ได้หมายความว่าไม่น่าซื้อเสมอไป
ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับค่า PE ที่เรานำมาฝากกันในคราวนี้ ซึ่งน่าจะพอตอบคำถามได้ว่า PE คืออะไร จะนำมาใช้ซื้อหุ้นได้อย่างไร และสามารถนำมาใช้ดูความถูกแพงเพื่อประเมินมูลค่าของหุ้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าการจะพิจารณาหุ้นอย่างรอบด้านนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการมองจากสัดส่วนทางการเงินตัวใดตัวหนึ่ง เพราะสัดส่วนทางการเงินแต่ละตัวก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดในการใช้งาน ซึ่งการใช้สัดส่วนทางการเงินหลาย ๆ ตัวประกอบกันจะช่วยให้เราได้เห็นภาพมูลค่าและพื้นฐานของหุ้นได้ชัดเจน เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม>>
ROE คืออะไร มีเคล็ดลับอย่างไรให้ใช้ทำกำไรได้อย่างยั่งยืน
ตลาดหุ้นเปิดกี่โมง? วันหยุดตลาดหุ้นปี 2564
วิธีการเล่นหุ้นระยะสั้นสำหรับมือใหม่ 2564
เล่นหุ้นต่างประเทศยังไงให้ได้ปัง
เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น โบรกไหนค่าคอมถูกสุด 2564