Cardano(ADA)คืออะไร?

Cardano(ADA)คืออะไร?

เหรียญ Cardano หรือ ADA เป็นเหรียญสาย Smart Contract สร้างขึ้นเมื่อปี 2015 โดย Charles Hoskinson (ชาร์ลส์ ฮอสกินสัน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเหรียญ Ethereum ที่ใครหลาย ๆ คนคงรู้จักกันดี Cardano ถือเป็นเหรียญดิจิทัลที่มีผู้คนจับตามอง และพูดถึงมากเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ในเรื่องของการพัฒนาระบบให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีค่าธรรมเนียมถูกกว่า จนได้ฉายาเป็นว่า “Ethereum Killer” จะเป็นเหรียญที่พัฒนามาโค่น Ethereum

ปัจจุบัน Cardano ถือครองอันดับที่ 8 ของโลก บนเว็บ CoinMarketCap มีมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ $35,047,722,353 Max Supply ของเหรียญอยู่ที่ 45,000,000,000 ล้านเหรียญ ราคาที่เคยทำ All Time High อยู่ที่ $3.10

Cardano นั้น มีชื่อย่อคือ ADA มีที่มาจากนักวิยาศาสตร์ชาวอังกฤษ “Ada Lovelace” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก” ADA ได้ทีมวิศวกรที่เชี่ยวชาญ โดยจำการใช้เหรียญ ADA มาจ่ายเป็นค่าธุรกรรม เหมือนกันกับที่ Ethereum Blockchain ช้เหรียญ ETH ในการจ่ายค่าธุรกรรม

Cardano VS Ethereum

ถึงแม้ว่า Ethereum และ Cardano จะเป็นเหรียญประเภทเดียวกันแต่ก็มีข้อแตกต่างเหมือนกัน Ethereum นั้นจะใช้ระบบProof-of-work (PoW) สามารถทำธุรกรรมได้ 15 ธุรกรรม/วินาที โดยตัว Ethereum เองก็พยายามแก้ไขข้อเสียในจุดนี้เช่นกัน โดยจะเปลี่ยนมาใช้ระบบ Proof-of-Stake (PoS) กับ ETH 2.0 เป็นเหมือนการอัปเกรด แต่ก็ต้องรอดูอีกทีว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน ในด้านของ Cardano นั้นใช้ระบบ Proof-of-stake (PoS) ซึ่งระบบนี้จะรองรับการทำธุรกรรมได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก การทำธุรกรรมสามารถทำได้ 270 ธุรกรรม/วินาที ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือสามารถทำทุกอย่างได้เร็วกว่า และค่าธรรมเนียมก็ถูกกว่า Ethereum จึงเป็นเหตุผลที่คนให้ความสนใจว่า Cardano อาจจะมาแทนที่ Ethereum ได้

โดยจุดประสงค์หลักของการสร้าง Cardano คือ เข้ามาแก้ไขระบบปัญหาของบล็อกเชนที่เกิดขึ้น หลัก ๆ มี 3 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านความสามารถในการเพิ่มขยาย (Scalability) เพิ่มความสามารถจำนวนในการทำธุรกรรมต่อวินาทีได้มากขึ้น, ด้านความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) สามารถแลกเปลี่ยนโทเคนได้ในทุกรูปแบบ และ ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ผ่านสถาปัตยกรรมแบบเป็นลำดับชั้น (layered architecture) ทำให้สามารถปรับตัวไปตามตลาดคริปโตได้

แพลตฟอร์มที่พัฒนาบน Cardano Blockchain

Cardano มีแฟลตฟอร์มบนระบบบล็อกเชนที่เพิ่งปล่อยมาช่วงมกราคม ปี 2022 คือ SundaeSwap DEX ที่สามารถเข้าไปทำการแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล และทำการฟาร์มได้คล้าย ๆ กับ PancakeSwap ของ Binance Smart Chain ที่เรารู้จักกัน ซึ่งโปรเจกต์นี้มีคนเข้ามาให้ความสนใจมากมาย มีจำนวนธุรกรรม TVL พุ่งสูงถึง 108.3 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจจริง ๆ นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ Ardana ที่คล้ายกับ Makerdao ของ Ethereum อีกด้วย โดยการจะทำธุรกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ Wallet ของ Cardano นั้นก็คือ Daedalus Wallet ที่มีไว้เพื่อจัดเก็บเหรียญดิจิทัลในการทำธุรกรรม

ในตอนนี้ Cardano ก็ยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ระบบเสถียร และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อผู้ใช้งาน อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบเพื่อป้องกันเทคโนโลยี Quantum ที่อาจจะสร้างความเสียหาย และเป็นภัยต่อเหรียญคริปโตได้ในอนาคต ซึ่งในขั้นตอนแรกของกระบวนการที่ Cardano ทนต่อการโจมตีของ Quantum ได้นั้นคือ การเปิดจำลองเพื่อทดสอบอัลกอริทึมของ Cardano

Roadmap ของ Cardano

มาลองดูกันว่าแผนที่ Cardano ถูกวางไว้จะเป็นอย่างไรกันบ้างหลังจากที่ได้มีการอัปเกรดไปในช่วง สิงหาคม 2021

Bylon – ยุคแห่งการวางรากฐาน ในช่วงแห่งการเริ่มต้น จุดประสงค์แรกเลยคือการวางโครงสร้างพื้นให้กับเครือข่าย ทำให้ Cardano สามารถซื้อขายเหรียญ ADA ได้ พัฒนาใช้ระบบการทำงานเป็นแบบ Proof-of-Stake (PoS) เป็นต้น 

Shelly – ยุคแห่งการกระจายอำนาจ มีจุดประสงค์มุ่งไปสู่ความเป็น Decentralized ให้มากขึ้นจากในยุค Bylon ที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความเป็น Decentralized เท่าไรเนื่องจากยังไม่มี Node จากผู้ใช้งานเครือข่าย

Goguen – ยุคของ Samrt Contract (ปัจจุบัน) ระบบของ Cardano หลัก ๆ แล้วเป็นเหรียญสาย Smart Contract เหมือนอย่าง Ethereum ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในส่วนของยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มนำ Smart Contract มาใช้พัฒนาระบบต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้าง Decentralized applications (dApps) เช่น Liqwid, Charli3, Adax และ SundaeSwap เป็นต้น

Basho – ยุคของการสเกลลิ่ง จุดประสงค์หลักเพื่อยกระดับความสามารถให้มากขึ้นเพื่อรองรับความเติบโตที่สูงขึ้น โดยมีการเปิดตัวบล็อกเชนรอง (Sidechain) เพื่อใช้เป็นกลไกกับ Sharding ซึ่งจะทำการแบ่งภาระจากบล็อกเชนหลักไปสู่บล็อกเชนรอง 

Voltaire – ยุคการปกครองตนเอง มาถึงยุคสุดท้ายของ Cardano มีจุดประสงค์คือ ให้ Cardano สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยจะมีการเปิดระบบโหวต เพื่อให้ผู้ใช้งานได้มีสิทธิ์ใช้เสียงของตัวเองเพื่อกำหนดระบบอนาคตของเครือข่ายได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้พัฒนามาดูแลอีกต่อไป ระบบนิเวศของระบบก็จะยังสามารถอยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ

ในช่วง มิ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้ Cardano ก็มีแผนที่จะอัปเกรดระบบอีกครั้งหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า Vasil Hard Fork ถือเป็นการอัปเกรดครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งตัวผู้สร้างอย่าง Charles Hoskinson ก็ให้ความสำคัญสำหรับการอัปเกรดครั้งนี้มาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขยายเครือข่าย จะช่วยยกระดับความสามารถในการสร้าง Block ของบล็อกเชน และยังสามารถช่วยให้ Cardano มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

สุดท้ายแล้วก็ต้องมาคอยดูกันว่า Cardano จะพัฒนาออกมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่กล่าวมา ไม่แปลกเลยที่ Cardano จะเป็นเหรียญที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และติดเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาดอยู่ตลอด เดี๋ยวเรามาคอยดูกันว่าสุดท้ายแล้ว Cardano จะกลายเป็นเหรียญที่มาแทนที่ Ethereum ได้จริงตามฉายา “Ethereum Killer” จริงไหม

ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.moneyandbanking.co.th/article/the-guru/cardano-ada-ethereum-cryptocurrency-070964

https://www.blockdit.com/posts/60182b251d3c28177dea990c

https://th.investing.com/news/cryptocurrency-news/article-55053