มือใหม่เพิ่งเริ่มต้นจะลงทุนอะไรดี?

จริงอยู่ที่เงินซื้อไม่ได้ทุกอย่าง แต่เงินก็ซื้อความสะดวกสบายหลาย ๆ อย่างให้กับชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการเก็บสะสมเงินให้มากพอที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเอง ซึ่งข่าวร้ายก็คือหากเราทิ้งเงินเอาไว้เฉย ๆ เพียงแค่อัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี ผ่านไป 3 ปีมูลค่าเงินของเราก็ลดลงไปเกือบ 10% แล้ว ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราต้องลงทุนเพื่อให้เงินในกระเป๋าของเราอย่างน้อยก็สามารถรักษามูลค่าเดิมของมันไว้ได้ แต่หากใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มยังไง ต้องรู้อะไรก่อนลงทุนบ้าง แล้วจะลงทุนอะไรดี  คราวนี้เรารวบตึงทุกข้อควรรู้เอาไว้ใน 6 ส่วนง่าย ๆ ด้านล่างนี้แล้ว

1. การลงทุนคืออะไร

การลงทุนเป็นวิธีการที่เราจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่โดยเฉพาะตัวเงินให้เกิดผลตอบแทนจนมีมูลค่าเติบโตงอกเงยขึ้นมา ในความหมายอย่างกว้างเราอาจพูดถึงการลงทุนว่าเป็นการนำทรัพยากร เช่น เงิน อุปกรณ์ ข้าวของ ไปเปิดกิจการ และได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรกลับมา 

นอกเหนือจากผลตอบแทน สิ่งที่นักลงทุนควรทราบก่อนเริ่มลงทุนก็คือการลงทุนยังมาพร้อมลักษณะเฉพาะ 2 ประการ นั่นคือ

  • การลงทุนต้องใช้เวลา

เนื่องจากการวางเพื่อให้เกิดผลกำไรงอกงามขึ้นมานั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาชั่วข้ามคืน แต่มักเป็นการค่อย ๆ สะสม เราจึงมักได้ยินการประเมินผลการลงทุนในระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน เช่น 1 ปีขึ้นไป ส่วนข้อมูลรายไตรมาสนั้นมักใช้ในการติดตามประเมินผลเป็นหลัก

  • การลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง

การลงทุนไม่เหมือนกับการออมที่มีการให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน แต่การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนจะไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ซึ่งอาจทำให้มีกำไรจำนวนมาก หรือขาดทุนจำนวนมากได้เช่นกัน

และปัจจัยทั้ง 2 ข้อนี้เองที่ทำให้การลงทุนแตกต่างจากการสะสมหรือปลูกมูลค่าของเงินด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การออม หรือการเก็งกำไร

2. จะเลือกลงทุนอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง 

ปัญหาอย่างหนึ่งของนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้นก็คือไม่รู้จะวางแผนหรือกำหนดกรอบการลงทุนอย่างไร ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวเองก่อนเป็นอย่างแรก โดยการเลือกลงทุนให้เหมาะกับตัวเองนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องลองสำรวจตัวเองก่อนใน 2 ด้าน นั่นคือ

การสำรวจลักษณะนิสัยของตนเอง 

เนื่องจากการลงทุนนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมีความสุขและสามารถอดทนรอคอยผลตอบแทนได้ตามแผนการที่วางไว้ เราควรทำความเข้าใจตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกจาก 2 ด้าน นั่นคือ

  • ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไม่ประสบความสำเร็จคือการละเลยที่จะสำรวจตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงของตัวเองว่าอยู่ในได้ระดับไหน ทำให้เลือกสินทรัพย์ได้ไม่สอดคล้องกับความทนทานต่อความเสี่ยงของตัวเอง

นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงสูง สามารถทนทานต่อความผันผวนของราคาได้ดีและยอมรับความสูญเสียของเงินทุนได้มาก จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นเติบโต หุ้นวัฏจักร สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสกุลเงินดิจิทัลได้  

นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถทนทานต่อความผันผวนของราคาได้น้อย ยอมรับความสูญเสียของเงินทุนได้ไม่มาก นักลงทุนประเภทนี้จะเหมาะกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและค่อนข้างปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ รวมทั้งหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น

ระดับความเสี่ยงที่รับได้มีความสำคัญในการวางแผนการลงทุน ซึ่งหากนักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนโดยที่เลือกสินทรัพย์ได้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ จะช่วยให้สามารถลงทุนได้อย่างมีความสุขและไม่ฝืนกับความโลภ-ความกลัวที่เป็นพื้นฐานของตัวเองมากจนเกินไป

  • อุปนิสัยของผู้ลงทุน

เป็นขั้นตอนสำรวจความชอบและความถนัดของผู้ลงทุน ซึ่งหากนักลงทุนมีความรู้หรือความชอบในด้านใดเป็นพิเศษ การเลือกวิธีลงทุนที่สอดคล้องกับความชำนาญและความชอบของตนเองจะช่วยให้มีความมั่นใจและอดทนกับการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น 

การวางเป้าหมายในการลงทุน

  • เป้าหมายในการลงทุน

นักลงทุนแต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่นักลงทุนคนเดียวกันในแต่ละช่วงวัยก็อาจมีเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกันไปได้ เช่น 

ลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ การลุงทุนในลักษณะนี้มีจุดเด่นตรงที่จะเน้นการปกป้องเงินต้นเป็นหลัก เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย เนื่องจากคาดหวังผลตอบแทนไม่มาก เพียงแค่สามารถชดเชยการเสื่อมมูลค่าจากเงินเฟ้อได้ก็นับว่าเพียงพอ ทำให้การลงทุนด้วยเป้าหมายนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ไม่มาก แต่ยังต้องการรักษาความมั่งคั่งของเงินทุนไม่ให้เสื่อมไปตามเวลาจากเงินเฟ้อ 

ลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง เป็นการลงทุนที่คาดหวังการเติบโตของเงินลงทุนเป็นหลัก ซึ่งหากนักลงทุนต้องการการเติบโตของเงินลงทุนในระยะเวลาไม่มาก ก็จำเป็นต้องเลือกสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากต้องการสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว นักลงทุนอาจเลือกหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่มากแต่เน้นการเติบโตในระยะยาวได้ ทำให้การลงทุนเพื่อตอบสนองเป้าหมายนี้ทำได้ทั้งการเลือกลงทุนแบบที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการลงทุนเป็นหลัก

ลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด เป็นการลงทุนที่ไม่เน้นการเติบโตของเงินทุนในระยะยาวมากนัก แต่จะเน้นให้มีการสร้างกระแสเงินสดจ่ายออกมาอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว ซึ่งอาจทำได้ทั้งการซื้อหุ้นปันผลหรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า ที่จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือค่าเช่าที่ค่อนข้างสม่ำเสมอไปตลอดระยะเวลาการถือครองสินทรัพย์ 

  • ขนาดของเงินลงทุนและผลตอบแทนที่คาดหวัง

ทั้งขนาดของเงินลงทุนและผลตอบแทนที่คาดหวังเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน การทราบขนาดของเงินลงทุน-เป้าหมาย-และความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้เราพอจะประมาณผลตอบแทนที่คาดหวังได้ เช่น หากขนาดของเงินลงทุนไม่มาก ต้องการลงทุนแบบเอาชนะเงินเฟ้อโดยใช้ความเสี่ยงต่ำ ก็มีแนวโน้มที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนกลับมาไม่มาก ซึ่งหากต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นก็ทำได้โดยเพิ่มขนาดของเงินลงทุน เพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน หรือขยายระยะเวลาในการลงทุนให้ยาวนานออกไป เป็นต้น

  • ระยะเวลาในการลงทุน

ระยะเวลาในการลงทุนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุน หากนักลงทุนยังมีอายุไม่มากและยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุน ก็จะมีระยะเวลาในการลงทุนมาก ซึ่งสามารถใช้ระยะเวลานี้ในการลองผิดลองถูกด้วยการใช้การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หรือใช้การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อสะสมมูลค่าในระยะยาวก็ได้ แต่หากนักลงทุนมีอายุมากแล้ว ไม่สามารถรับความเสี่ยงสูงและไม่สามารถรับการสูญเสียเงินทุนได้ ก็จำเป็นต้องลงทุนด้วยวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีข้อจำกัดในการสร้างผลตอบแทนมากกว่าคนที่ยังมีเวลาในการลงทุนมากกว่า

เมื่อเราทำความรู้จักตัวเองจากทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เราได้เห็นโอกาสและข้อจำกัดของการลงทุนที่เหมาะกับความต้องการ การทนทานต่อความเสี่ยง และระยะเวลาในการลงทุนได้ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนต่อไป

3. มีสินทรัพย์อะไรเพื่อการลงทุนบ้างและควรเลือกลงทุนอะไรดี

ปัจจุบันมีสินทรัพย์ที่ให้นักลงทุนเลือกนำเงินไปลงทุนหลากหลายชนิดด้วยกัน อีกทั้งสินทรัพย์แต่ละชนิดก็ยังมีเครื่องมือทางการเงินสำหรับใช้แตกไปอีกหลากหลาย เช่น การลงทุนในหุ้นก็มีทั้งการซื้อขายหุ้นโดยตรงและการซื้อขายผ่านกองทุน หรือ การลงทุนในทองคำก็สามารถทำได้โดยการซื้อทองคำแท่ง ซื้อกองทุน ซื้อสัญญาฟิวเจอร์ส หรือซื้อ CFD 

 และหลังจากที่เราทำความรู้จักตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกันต่อว่าจะมีสินทรัพย์ตัวใดบ้างที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เราตั้งเอาไว้ได้ 

ตราสารหนี้

เป็นตราสารที่แสดงถึงสถานะความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยผู้ลงทุนจะมีสถานเป็นเจ้าหนี้ที่นำเงินมาให้บริษัทที่มีฐานะลูกหนี้นำเงินไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้บริษัทก็จะจ่ายเงินต้นคืนกลับมาพร้อมกับดอกเบี้ย ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้มักมีความแน่นอนของผลตอบแทนในระดับหนึ่งจึงค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะหากบริษัทที่ออกตราสารเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความมั่นคงก็จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนต่ำมาก แต่ก็ให้ผลตอบแทนไม่สูงมากเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการลงทุนด้วยวิธีนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ต้องการผลตอบแทนที่ไม่มากแต่ก็ยังมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร อย่างไรก็ดีการลงทุนในตราสารหนี้ก็ค่อนข้างมีความแน่นอนของผลตอบแทน และยังสามารถเลือกช่วงเวลาสำหรับการลงทุนได้ว่าจะเป็นระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) หรือ เป็นการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีไปจนถึง 10 ปี 

ผลตอบแทน: ส่วนมาก 1 – 5% อาจสูงสุดได้ 8 – 10%

ความเสี่ยง: ต่ำ

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะสั้น – ยาว ขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ 

จำนวนเงินลงทุนเริ่มต้น: 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป

กองทุน

กองทุนเป็นผู้รวบรวมเงินของนักลงทุนรายย่อยไปบริหารและลงทุนต่อตามนโยบาย เช่น กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในทองคำก็จะจัดสรรเงินไปลงทุนในทองคำ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กก็ต้องนำเงินไปลงทุนตามนั้น และผลตอบแทนที่ได้มาก็จะเฉลี่ยกลับคืนสู่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนที่ถือ โดยจะมีการหักค่าธรรมเนียมเป็นค่าบริหารจัดการและมีการดูแลวางแผนการลงทุนโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

การลงทุนในกองทุนจึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถทนต่อระดับความเสี่ยงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถลงทุนในกองทุนตราสารหนี้/หุ้นกู้ ผู้ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นสามารถลงทุนในหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ได้ตามลำดับ 

โดยทั่วไปแล้วการซื้อขายกองทุนสามารถทำได้วันละครั้งในทุกวันทำการของสัปดาห์ นักลงทุนจึงสามารถซื้อขายได้ตลอด แต่เพื่อให้การลงทุนได้ผลกำไรระดับหนึ่งการลงทุนในกองทุนจึงมักใช้สำหรับการลงทุนระยะกลางถึงระยะยาวเป็นหลัก

ผลตอบแทน: ต่ำ – สูง ขึ้นอยู่กับนโยบายลงทุนของแต่ละกองทุน

ความเสี่ยง: ต่ำ – สูง ขึ้นอยู่กับนโยบายลงทุนของแต่ละกองทุน

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะกลางถึงยาว

จำนวนเงินเริ่มต้น: 500 บาท ส่วนใหญ่เริ่มต้น 5,000 บาทขึ้นไป

หุ้น

ลงทุนในหุ้น

การลงทุนในหุ้นคือการเข้าไปมีส่วนในความเป็นเจ้าของในบริษัท ทำให้นักลงทุนมีสิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้น เงินปันผลและกำไรที่งอกเงยขึ้นมา หรือหากบริษัทปิดกิจการไปสินทรัพย์ที่เหลือภายหลังชำระหนี้ก็จะต้องถูกนำมาแบ่งคืนให้กับผู้ถือหุ้นเป็นรายสุดท้าย ด้วยเหตุนี้การลงทุนในหุ้นจึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เสมือนหนึ่งผู้ลงทุนเข้าไปร่วมหัวจมท้ายกับบริษัท แต่หากบริษัทเติบโตได้ดีเงินทุนของผู้ลงทุนก็จะเติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน

เนื่องจากหุ้นในตลาดก็มีหลากหลายประเภท ทั้งหุ้นปันผล หุ้นบริษัทขนาดใหญ่ (Blueship) หุ้นเติบโต ซึ่งหุ้นแต่ละชนิดก็มีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น หุ้น Blueship มักเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่มาก การเติบโตก็ไม่หวือหวา แต่ก็ให้ผลตอบแทนไม่มาก จึงเหมาะกับการลงทุนในระยะยาวสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ หรือหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นก็อาจเลือกเป็นหุ้นเติบโต ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้มากเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเลือกแบบไหนส่วนใหญ่แล้วการลงทุนในหุ้นมักเป็นการลงทุนระยะกลางถึงยาวที่นักลงทุนจำเป็นต้องถือหุ้นไว้เกินกว่า 1 ปีขึ้นไป

ผลตอบแทน: โดยเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 12% ต่อปี ขณะที่หุ้นรายตัวอาจให้ผลตอบแทนสูงสุดได้หลายสิบเปอร์เซนต์ขึ้นไป

ความเสี่ยง: สูง

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะกลางถึงยาว 

จำนวนเงินเริ่มต้น: 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป

อสังหาริมทรัพย์

เป็นการเข้าไปครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารพานิชย์ คอนโด โกดังเก็บของ หรือแม้แต่ที่ดินว่างเปล่า ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้จากทั้งค่าเช่าและส่วนต่างราคาซื้อขาย 

โดยทั่วไปแล้วที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นมีจำกัด และมักมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเมื่อเทียบกับราคาที่เปินตัวเงิน (ที่ม้กจะลดลงจากพลังของเงินเฟ้อ) ทำให้ในระยะยาว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สามารถเป็นได้ทั้งเพื่อจุดมุ่งหมายการเอาชนะเงินเฟ้อ เพื่อสร้างกระแสเงินสดจากค่าเช่า รวมถึงสามารถสร้างความมั่งคั่งได้หากนักลงทุนสามารถเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ที่ราคาต่ำและขายไปได้ในราคาสูง

อย่างไรก็ดีการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อขายหรือการโอนนั้นมีความยุ่งยาก ทำได้โดยใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง เราจึงไม่นิยมซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันบ่อย ๆ แต่เน้นไปที่การลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก จึงเหมาะกับผู้ที่มองหาการลงทุนในระยะยาวที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

ผลตอบแทน: อาจสูงสุดได้หลายสิบเปอร์เซนต์ต่อไป

ความเสี่ยง: สูง

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะยาว 

จำนวนเงินเริ่มต้น: หลักล้านบาทขึ้นไป

สินค้าโภคภัณฑ์: ทอง เงิน น้ำมัน

การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ความชำนาญ เนื่องจากพฤติกรรมของราคาสินทรัพย์มีลักษณะเป็นวัฏจักรและสามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรวมเข้ากับเครื่องมือที่มีเลเวอเรจจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับการลงทุนมากเข้าไปอีก แต่ก็เป็นวิธีที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นจำนวนมากได้เช่นกัน

การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดเช่น ทองคำ นักลงทุนสามารถเข้าซื้อสินค้าได้โดยตรง เช่น ทองคำแท่ง ซึ่งเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว แต่สินค้าโภคภัณฑ์มักมีความนิยมลงทุนในรูปสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) มากกว่า ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และมีวันหมดอายุของสัญญากำกับ ทำให้ไม่เหมาะกับการถือในระยะยาว จึงเหมาะกับการลงทุนในระยะสั้นถึงกลางเท่านั้น หรือหากใช้ CFD ก็สามารถซื้อขายในระยะที่สั้นมากได้

ผลตอบแทน: สูงมาก และอาจสูงได้ในหลักหลายสิบเท่าขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้

ความเสี่ยง: สูงมาก

ระยะเวลาการลงทุน: ได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้

จำนวนเงินเริ่มต้น: ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ เช่น ทองคำแท่งเริ่มต้นราว 6,000 บาทต่อ 1 สลึง, Gold Future ในตลาดหุ้นไทยเริ่มต้น 3,000 – 4,000 บาทต่อสัญญา, Comex Future 100 เริ่มต้น $ 9,185 – 8,350.00 ต่อสัญญา หรือ การเทรดทองคำ CFD เริ่มต้นราว $15 – 20 ต่อ 0.01 Lots 

Forex

ลงทุนใน forex
3d render of forex trading concept

การลงทุนใน Forex นั้นส่วนใหญ่มักมาในรูปแบบของการเก็งกำไร นั่นคือการเข้าไปซื้อ (Long) เมื่อเรามองว่าราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และขายออกไปเมื่อราคากลับเข้าสู่ดุลยภาพ หรืออาจเป็นการขาย (Short) เมื่อราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น และขายออกไปเมื่อราคากลับเข้าสู่ดุลยภาพ โดยการเบี่ยงเบนออกจากจุดที่ควรเป็นของแต่ละคู่เงินนั้นอาจเกิดได้จากการประกาศนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศ การประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือการเกิดอีเวนท์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญจนกระทบกับค่าเงินของประเทศต่าง ๆ 

ดังนั้นการซื้อขายค่าเงิน Forex นั้นจึงมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นการซื้อขายที่ใช้เลเวอเรจเข้ามาเกี่ยวข้อง และตัวราคาก็มีความผันผวนได้มาก จึงสามารถสร้างทั้งผลกำไรและผลขาดทุนได้มาก จึงเหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง และเป็นการเข้าเก็งกำไรในระยะสั้นเท่านั้น

ผลตอบแทน: สูงมาก

ความเสี่ยง: สูงมาก

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะสั้นถึงสั้นมาก

จำนวนเงินเริ่มต้น: ต่ำกว่า $5 (160 บาท)

สกุลเงินดิจิตอล

สกุลเงินดิจิทัลได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ตัวใหม่ล่าสุดของตลาดการเงิน โดยเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนและการเข้ารหัส (cryptography) ทำให้มีลักษณะที่เป็นอิสระจากตัวกลางใด ๆ แต่อาศัยชุมชนผู้ใช้งานในการรันระบบ เพื่อนำเหรียญไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เป็นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน เป็นค่าธรรมเนียมการรันแอปพลิเคชั่น เป็นค่าธรรมเนียมการทำสัญญาอัจฉริยะ ใช้เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ ฯลฯ และนั่นเป็นสาเหตุให้สกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่าและสามารถเข้าลงทุนได้หากนักลงทุนเล็งเห็นการเติบโตของการใช้งานของเหรียญในอนาคต

ด้วยความที่เหรียญส่วนใหญ่ในตลาดมีปริมาณจำกัด ทำให้ปริมาณความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ราคาเหรียญสูงขึ้น และเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าลงทุนได้ โดยที่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูง เนื่องจากการประเมินมูลค่าเหรียญนั้นทำได้ยาก การประเมินและคาดการณ์อนาคตก็ทำได้ไม่ง่าย อีกทั้งเหรียญที่ไม่สามารถเติบโตในระยะยาวได้ก็มีโอกาสถูกทิ้งจนไม่มีมูลค่าไปได้ง่าย ๆ การลงทุนแบบนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และมีระยะเวลาการรอคอยที่ระยะกลางถึงระยะยาวขึ้นไป แต่หากเป็นการซื้อขายระยะสั้นจะมีลักษณะของการเก็งกำไรเป็นหลัก

ผลตอบแทน: สูง

ความเสี่ยง: สูงมาก

ระยะเวลาการลงทุน: สามารถลงทุนได้ทั้งระยะกลาง -ยาว  

จำนวนเงินเริ่มต้น: ขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ เช่น การซื้อด้วย CFD ขั้นต่ำ ประมาณ $50(1600 บาท) ขึ้นอยู่กับราคาเหรียญที่ซื้อขายในขณะนั้นและเลเวอเรจที่โบรกเกอร์กำหนด

งานศิลปะ

ในกรณีนี้สามารถทำได้ทั้งการสะสมผลงานศิลปะ สะสมของมีค่า โดยการซื้อมาเก็บรักษาไว้และรอขายไปเมื่อมีผู้ให้มูลค่ากับสิ่งนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ภาพวาดหนึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 100,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปีมีผู้ชื่นชอบศิลปินคนนี้เพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้ผลงานมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็สามารถขายภาพวาดนั้นออกไปได้ที่ราคาแพงและได้ผลกำไรจากส่วนต่างการซื้อขายนั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในของสะสมนั้น ๆ อย่างแท้จริง ซึ่งหากเราซื้อมาแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ ภาพนั้นไม่มีคนซื้อก็อาจต้องนำออกมาขายในราคาถูกจนเป็นผลขาดทุน หรือขายไม่ออกจนต้องแบกรับต้นทุนที่ซื้อไว้เองก็ได้

ดังนั้นการลงทุนในงานศิลปะหรือของสะสมมีค่าจึงมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงเช่นเดียวกัน จึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ และสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เหมาะกับการลงทุนในระยะยาวที่นักลงทุนสามารถรอคอยเวลาให้มีผู้เสนอราคาซื้อที่ราคาแพงได้ด้วย

ผลตอบแทน: สูง

ความเสี่ยง: สูง

ระยะเวลาการลงทุน: ระยะยาว

จำนวนเงินเริ่มต้น: ภาพวาดมักเริ่มต้นที่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับประเภทของงานศิลปะและของสะสม

4. ควรลงทุนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม 

การกำหนดจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป จะช่วยให้เราได้เห็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกล้มเหลวหากการลงทุนนั้นไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ซึ่งจำนวนเงินนี้ของนักลงทุนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อันดับแรกต้องพิจารณาจากจำนวนเงินที่เราสามารถนำมาลงทุนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ไม่ทำให้สถานะทางการเงินของเราต้องเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่อง จากจำนวนเงินที่ได้ก็ยังต้องนำมาจัดสรรสำหรับการลงทุนที่ตอบโจทย์ด้านเงื่อนไขเวลา และเงื่อนไขการสร้างผลตอบแทนอย่างที่ได้วางแผนไว้ 

สิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการจัดสรรเงินลงทุนก็คือ นักลงทุนควรกันเงินสำรองให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในระดับ 3 – 6 เดือน และเงินสำรองฉุกเฉินเผื่อกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเงินไว้เป็นขั้นต่ำ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียงเงินลงทุนทั้งหมดไป นักลงทุนก็ยังมีเงินสำรองไว้สำหรับการใช้จ่ายในระยะหนึ่งได้ 

5. เมื่อการลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง เราควรจัดการความเสี่ยงในการลงทุนอย่างไร 

สำหรับนักลงทุนย่อมชื่นชอบผลตอบแทนและพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่สำหรับการลงทุนแล้วไม่ว่าอย่างไรก็หลีกหนีความเสี่ยงไปไม่ได้ แต่เราสามารถลดหรือจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ด้วย 2 วิธีพื้นฐาน

  • การกระจายเงินลงทุน

หากนักลงทุนวางเงินไว้ที่สินทรัพย์เพียงตัวเดียว และหากเกิดความสูญเสียขึ้นก็เท่ากับนักลงทุนกำลังสูญเสียเงินทั้งหมดไป แต่การเลือกที่จะกระจายเงินไปที่สินทรัพย์หลาย ๆ ตัวจะช่วยกระจายความเสียหาย ที่หากมีตัวใดตัวหนึ่งสูญเสียมูลค่าไป ก็ยังมีเงินลงทุนในสินทรัพย์ตัวอื่นที่สามารถเติบโตได้

  • การหมั่นประเมินสถานการณ์และปรับพอร์ต

เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดการเงินนั้นมีปัจจัยกระทบมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อประเมินสถานการณ์การลงทุนเป็นระยะ รวมทั้งปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในตลาดได้

6. เราควรเริ่มต้นลงทุนเมื่อไหร่ดี

การลงทุนนั้นยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งมีโอกาสเรียนรู้ ยิ่งมีโอกาสลองผิดลองถูก มีโอกาสแก้ตัว มีโอกาสสะสมความมั่งคั่ง และมีโอกาสที่จะเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในตลาดได้มากกว่า ดังนั้นการลงทุนที่ดีควรเริ่มต้นทันทีและยิ่งเร็วยิ่งดี แต่สำหรับมือใหม่ที่ยังไม่มั่นใจ การเริ่มลงทุนด้วยเงินทุนจำนวนน้อย ๆ จะสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจได้

ทั้งหมดนี้ก็คือคู่มือเตรียมพร้อมสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่กำลังวางแผนว่าจะลงทุนอะไรดี ในแบบที่เรารวบข้อมูลสำคัญมาไว้ให้แบบครบจบ ให้ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นวางแผนและก้าวเข้าสู่สนามการลงทุนได้แบบมั่นใจและพร้อมในทุกสินทรัพย์และสภาพตลาดเลยทีเดียว

FAQ

  1. การลงทุนกับภาษี: ลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้างที่ต้องเสียภาษี สินทรัพย์ตัวใดไม่ต้องเสียภาษี

– การลงทุนในทุกรูปแบบที่ได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

– การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผล เช่น เงินปันผลจากหุ้นและกองทุนรวม เฉพาะส่วนเงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%

– กำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) อาจถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษี

– สำหรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนไทยมีกฎหมายตราไว้ว่า “หากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(4)(ฌ)ซึ่งผู้จ่ายเงินได้(ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%” นั่นคือหากในหนึ่งปีนักลงทุนมีกำไรจากการขายสกุลเงินดิจิทัล จะถูกหักภาษี 15% ณ ที่จ่าย และต้องนำกำไรที่ได้ไปรวมกับเงินได้เพื่อชำระภาษีประจำปีด้วย ซึ่งหากเงินได้อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี ก็จะสามารถเครดิตภาษีที่หักไว้นี้คืนได้ 

อย่างไรก็ดี การคำนวณภาษีสกุลเงินดิจทัลยังเป็นเรื่องใหม่ และคำนวณผลกำไรจากการซื้อขายได้ไม่ง่ายนัก ทำให้การเสียภาษียังมีความคลุมเครืออยู่ 

2. การลงทุน vs. การออม สองคำนี้ต่างกันอย่างไร

– การออม เป็นการสะสมเงินทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้เกิดรวมเป็นมูลค่าจำนวนมากขึ้นในท้ายที่สุด ซึ่งวิธีการออมจะเน้นที่การสะสมและรักษามูลค่าของเงินทุน จึงมักเลือกใช้การฝากธนาคารเป็นหลัก ซึ่งในระยะยาวก็สามารถรวบรวมเงินเป็นจำนวนหนึ่งเพื่อเป้าหมายทางการเงินได้ บนการเติบโตของเงินทุนที่จำกัดเพียงจำนวนเงินที่สะสมเข้าไว้เท่านั้น

– การลงทุน เป็นการจัดสรรเงินทุนเพื่อให้เกิดการเติบโตและงอกเงยของเงินที่ได้ลงทุนไป ซึ่งมักใช้วิธีการที่มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มาพร้อมโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย เช่น การลงทุนในหุ้น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ 

3. การลงทุน vs. การเก็งกำไร สองคำนี้ต่างกันอย่างไร

– การลงทุน เป็นการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อให้เกิดการเติบโตงอกเงยของเงินลงทุน ที่มักมาพร้อมกับความเสี่ยงของเงินทุน และจำเป็นต้องใช้เวลาระยะกลางถึงยาวกว่าที่จะสามารถรับรู้การเติบโตของเงินลงทุนจนเป็นผลกำไรจากการลงทุนได้

– การเก็งกำไร เป็นการมุ่งแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายของสินทรัพย์แต่ละชนิดที่เบี่ยงเบนไปจากราคาที่ควรจะเป็น อันเนื่องมาจากการกระทบจากข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว และเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น การเก็งกำไรจึงเน้นความผันผวนของราคาและการซื้อขายในระยะสั้นเป็นหลัก